คุณรสวรรณ จงไมตรีพร เริ่มทำการค้าเล็ก ๆ น้อย ๆสามีเปิดร้านปะยางรถยนต์ เมื่อประมาณ ปีพ.ศ. 2533 มีคนในหมู่บ้านซื้อเศษผ้ามาจากกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นผ้าชั่งกิโลขายมาตัด เย็บต่อทำผ้าห่ม-เสื้อเด็ก จึงสนใจและคิดอยากจะทำอยู่บ้าง จึงได้ลองทำดู เริ่มจากทำเสื้อผ้าเด็กก่อนแล้วก็ลองตัดเสื้อคอปกโปโลของผู้ชาย โดยซื้อปกชั่งกิโลมาลองทำแล้วก็ลองเปลี่ยนแบบไปเรื่อยๆ เป็นชุดนอนบ้าง ชุดออกกำลังกาย ชุดแอโรบิค ชุดกีฬา
ปีพ.ศ. 2534 ได้ให้น้องสาวของสามีซึ่งเป็นพยาบาลนำสินค้าไปขายในโรงพยาบาลและโรงงานต่างๆ ในจังหวัดสมุทรปราการ การค้าก็ยังไม่ดีเท่าที่ควร ล้มลุกคลุกคลานมาตลอด เพราะว่าระบบของเรารับเปลี่ยนได้ถ้าแบบไหนขายไม่ดี และคืนได้ ถ้าขายไม่หมด เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ลูกค้าอยากจะขายสินค้าของเรา
มีอยู่ระยะหนึ่งการค้าชะงักของเหลือคืนมาเยอะมากจึงออกขายเอง ตามย่านตลาดที่เป็นแหล่งชุมชน ด้วยการยืนตบมือตะโกนขาย ปรากฏว่าขายดีมาก ประมาณ 2 ชั่วโมง ขายได้ประมาณ 15,000 บาท ทำให้มีกำลังใจที่จะต่อสู้และฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ จึงกลับมาพัฒนาฝีมือและคุณภาพมาโดยตลอด
ปี พ.ศ. 2536 กรมการพัฒนาชุมชน โดยสำนักงานพัฒนาชุมชน อ.พนมทวน จัดอบรมสตรีอาสาพัฒนา ต.รางหวาย ประมาณ 300 กว่าคน ร่วมประชุมพบปะกันเป็นประจำ จึงทราบปัญหาของกลุ่มสตรีอาสาว่ามีรายได้น้อย อาชีพทำไร่ ทำนาไม่แน่นอน จึงคิดหาอาชีพเสริม โดยรวมกลุ่มสตรี เพื่อฝึกอาชีพตัดเย็บเสื้อผ้า แล้วรวมตัวกันตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต เพื่อให้ทุกคนสมัครเป็นสมาชิกออมเงิน ปัจจุบันมีเงินออม จำนวน 880,000 บาท
ในปี พ.ศ. 2540 เศรษฐกิจตกต่ำทั่วประเทศ ธุรกิจทั่วไปประสบภาวะขาดทุน จึงคิดเพิ่มทุนเพื่อประกอบธุรกิจช่วงซบเซา ได้กู้เงินสินเชื่อเพื่อการพัฒนาชนบท ธนาคารออมสิน จำนวน 300,000 บาท ขณะนี้ใช้หนี้ธนาคารหมดแล้ว เปิดร้านเป็นศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์ของกลุ่มสตรีทั้งอำเภอเพื่อจำหน่ายแก่นักท่องเที่ยว เมื่อ 25 ธ.ค. 2540 โดยมีนายสมศักดิ์ ศรีวรรธนะ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เป็นประธานพิธีเปิด จากนั้นจึงหาตลาดเพิ่มในกรุงเทพฯ เพื่อหาตลาดที่รองรับการผลิต เราได้ติดต่อ ร้านค้า ตลาดโบ๊เบ๊ ตลาดใบหยก, ประตูน้ำ เพื่อรับงานมาผลิตหลายรูปแบบแต่ ได้รับการตอบรับที่ดีมาก มีลูกค้าสั่งออร์เดอร์เข้ามาเยอะมาก แต่มีป้ญหาโดนกดราคา ไม่ค่อยได้รับความเป็นธรรม การเงินก็เป็นเครดิต 2-3 เดือนจึงคิดเปิดตลาดเอง ประกอบกับลูกจบการศึกษา จึงเปิดร้านเองที่ประตูน้ำ และเพิ่มที่ตลาดโบ๊เบ๊ ปัจจุบันสามารถสร้างรายได้ให้กลุ่มได้ดีมาก จึงขยายเพิ่มอีก 2 สาขา มีมูลค่าการลงทุน 10 ล้านบาท
จากนั้นมาก็ได้พัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์มาอย่างต่อเนื่อง เมื่อปีพ.ศ. 2546 รัฐบาลได้มีแนวคิดให้มีการผลิตสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ เพื่อสนับสนุนสินค้าจากภูมิปัญญาคนไทย นางรสวรรณ จึงได้คิดผลิตเสื้อปกโปโลอนุรักษ์ไทยขึ้นมา โดยนำเอาผ้าไทยลายปักมาตกแต่งเข้ากับเสื้อปกโปโล ซึ่งเป็นเสื้อที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ด้วยรูปแบบของเสื้อที่สุภาพ เรียบง่าย ทันสมัย ใส่สบายตัว ราคาไม่สูง โดยยังทรงคุณค่าบ่งบอกถึงเอกลักษณ์ไทย สามารถเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทยด้วย จากแนวคิดนี้จึงได้ส่งเสื้อปกโปโลอนุรักษ์ไทยร่วมคัดสรรสุดยอดสินค้า OTOP
ปีพ.ศ.2546 ส่งเสื้อปกโปโลอนุรักษ์ไทยร่วมคัดสรรสุดยอดสินค้า OTOP ได้รับการคัดสรร 4 ดาวระดับประเทศ
ปีพ.ศ.2547 ส่งเสื้อปกโปโลอนุรักษ์ไทยร่วมคัดสรรสุดยอดสินค้า OTOP ได้รับการคัดสรร 4 ดาวระดับประเทศ
ปีพ.ศ.2549 ส่งเสื้อปกโปโลอนุรักษ์ไทยร่วมคัดสรรสุดยอดสินค้า OTOP ได้รับการคัดสรร 5 ดาว ระดับประเทศ
เมื่อคัดสรรแล้ว รัฐบาลได้จัดงาน OTOP City ที่อิมแพคเมืองทองธานี ทางกลุ่มตัดเย็บได้รับความไว้วางใจให้ผลิตเสื้อให้กับผู้ที่มาร่วมงานจำหน่ายและแสดงสินค้าปีละ 15000-20000 ตัว เป็นเวลา 4 ปีซ้อน
เนื่องจากปี 2549 เป็นปีฉลองครองราชย์ 60 ปี ในหลวงของเรา กลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้านำโดยนางรสวรรณ จงไมตรีพร ยังได้รับอนุญาตจากสำนักราชเลขานุการกองงานในพระองค์ ให้ผลิตเสื้อสีเหลืองตราสัญลักษณ์ฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ออกจำหน่ายซึ่งเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่ง
ปี 2550 ได้รับอนุญาตจากสำนักราชเลขา ฯ ให้ผลิตเสื้อเหลืองตราสัญลักษณ์เฉลิมพระเกียรติมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา ในนาม OTOP GROUP ออกจำหน่ายอีกครั้ง ด้วยความภาคภูมใจ
ปัจจุบัน ได้พัฒนาการผลิตให้ได้รวดเร็วขึ้น เพื่อตอบรับความต้องการของลูกค้า โดยยังคงเน้นการพัฒนาคุณภาพให้ดียิ่งขึ้น และยังเป็นศูนย์ให้ความรู้กับผู้ศึกษาดูงานทั่วประเทศ ทำให้คนทั่วไปรู้จักบ้านตลาดใหม่ ต.รางหวาย อ.พนมทวน ศูนย์ผลิตผ้ายืดขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของประเทศไทย บริหารงานโดย นางรสวรรณ จงไมตรีพร และครอบครัวนับแต่แรกเริ่ม มีเงินลงทุนแค่ 20,000 บาท มีจักรอยู่แค่ 3 คัน จนถึงปัจจุบันมีจักร 100 กว่าคัน มีสมาชิก 200 กว่าคน มีเงินทุนหมุนเวียนนับล้านบาท นางรสวรรณ จงไมตรีพร เป็นผู้ที่มีความมานะอดทนในการประกอบอาชีพได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ พัฒนารูปแบบ ทักษะ ความรู้ความสามารถ ในการประกอบธุรกิจและยังสร้างงานอาชีพสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน ทำให้ชุมชนเข้มแข็ง มีความเจริญก้าวหน้า มีความเป็นอยู่ที่ดี มีการออมเงิน ทำให้สมาชิกรู้จักใช้จ่าย และอดออมมีความเป็นอยู่ที่ดีไม่ต้องดิ้นรนไปทำงานในกรุงเทพฯ ครอบครัวอบอุ่น ตามแนวพระราชดำหริเศรษฐกิจพอเพียง เป็นตัวอย่างที่ดีเป็นที่ยอมรับของบุคคลทั่วไป