ด้ายใยผสม
ในบรรดาผลิตภัณฑ์สิ่งทอ ที่เรารู้จักกันอยู่โดยทั่วไปนั้น มีทั้งชนิดที่ผลิตขึ้นจากเส้นด้าย ที่ประกอบด้วย เส้นใยชนิดเดียว และชนิดที่ผลิตจากเส้นด้าย ที่ประกอบด้วยเส้นใยตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไป ที่เรียกว่า “ด้ายใยผสม”
ด้ายใยผสม กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญ ในผลิตภัณฑ์สิ่งทอมากขึ้น เพราะแนวโน้มของผู้บริโภคในปัจจุบัน ต่างมีความต้องการ เสื้อผ้าที่สวมใส่สบาย ดูแลรักษาง่าย และมีความสวยงาม
เส้นใยที่จะนำมาผลิตเป็นด้ายใยผสมนั้น ต้องอยู่ในรูปของเส้นใยสั้น โดยอาจเป็นได้ทั้ง เส้นใยธรรมชาติ และเส้นใยประดิษฐ์ ซึ่งจะนำมาเข้าสู่กระบวนการปั่นด้าย โดยใช้อัตราส่วนในการผสมที่แตกต่างกันออกไป
จุดประสงค์ในการผสมเส้นใย มีอยู่หลายประการด้วยกัน อาทิ เพื่อให้เส้นด้ายย้อมติดสีแตกต่างกัน ซึ่งทำได้โดยการใช้ใย ที่ดูดติดสีได้ไม่เหมือนกัน ผสมเข้าด้วยกัน ปั่นเป็นเส้นด้าย ทอผ้า แล้วจึงย้อมสี จะทำให้ผ้านั้นมีสีต่างเป็นจุดๆ ทั่วผืนเกิดความสวยงามอีกแบบหนึ่ง การผสมเส้นใย ยังสามารถทำให้เส้นด้าย ที่ผลิตออกมามีเนื้อมากขึ้น มีผิวสัมผัสดีขึ้น เช่น เมื่อนำเส้นใยเรยอน ปั่นร่วมกับฝ้าย จะทำให้เส้นด้าย มีลักษณะเป็นเงามัน และมีเนื้อนุ่มขึ้น นอกจากนี้การนำใยที่มีราคาแพงและ คุณภาพดี มาผสมกับใยที่มีราคาถูก และคุณภาพด้อยกว่า จะทำให้ผ้าที่ผลิตได้ มีลักษณะค่อนไปทาง ใยที่มีคุณภาพดี ในขณะที่สามารถผลิตผ้า ได้ในราคาที่ถูกลง
เส้นใยพอลิเอสเทอร์ เป็นเส้นใยชนิดหนึ่ง ที่มีบทบาทมากที่สุดในกลุ่มของด้ายใยผสม เนื่องจากเส้นใยพอลิเอสเทอร์ มีสมบัติเด่นในด้านความแข็งแรง ไม่หดตัว ในขณะที่มีการคืนตัวต่อรอยยับได้ดี และทำความสะอาดได้ง่าย ด้ายใยผสมที่ประกอบด้วยพอลิเอสเทอร์ในอัตราส่วน 50 ถึง 65% ร่วมกับฝ้าย สามารถนำมาผลิตเป็นผ้า ที่ดูแลรักษาได้ง่าย เหมาะสำหรับตัดเย็บเป็นเสื้อผ้า และชุดกีฬา ส่วนการผสมพอลิเอสเทอร์ และเส้นใยอะคริลิก ในสัดส่วน 50 ต่อ 50 ก็สามารถใช้ในการผลิตชุดกีฬา กระโปรง กางเกง โดยทั่วไปได้ดี และถ้านำพอลิเอสเทอร์ ผสมในอัตราส่วน 45 ถึง 55% ร่วมกับใยขนสัตว์ ก็จะทำให้ผ้าชนิดนั้นจัดทรงได้สวยงาม และให้ความรู้สึก เหมือนได้สวมใส่ชุด ที่ผลิตจากใยขนสัตว์ 100% ในขณะที่พอลิเอสเทอร์ จะช่วยเสริมสมบัติ ในเรื่องความทนทาน และป้องกันการเกิดรอยยับ
แม้ว่าการผลิตด้ายใยผสม จะต้องอาศัยเทคนิคที่ค่อนข้างยุ่งยากและมีต้นทุนการผลิตสูง แต่จากที่กล่าวมา ข้างต้นจะเห็นได้ว่า เส้นด้ายที่เกิดจากการผสมเส้นใย ในสัดส่วนที่เหมาะสม จะสามารถดึงเอาสมบัติเด่น ของเส้นใยแต่ละชนิด ให้ปรากฏออกมาบนผ้าผืนนั้นๆ และเกิดประโยชน์ ต่อการใช้งานได้อย่างลงตัว
เอกสารอ้างอิง
- อัจฉราพร ไศละสูต, 2539, ความรู้เรื่องผ้า, พิมพ์ครั้งที่ 10, กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สร้างสรรค์วิชาการ
- http://www.fabriclink.com/Blends.html